บทความ

บทความจาก ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต 

 

นักเรียนที่รักครับ

             สารฉบับนี้คงจะถึงมือนักเรียนในช่วงปิดภาคเรียนพอดี หลายคนได้พักผ่อน อีกหลายคนคงลงเรียนในภาคฤดูร้อนนี้  ไม่ว่า นักเรียนจะเลือกทางเลือกใดก็ขอให้เกิดการเรียนรู้  ด้วยใจที่เป็นสุขตลอดเวลาครับ

     ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ ครูใหญ่ในนามคณะครูขอฝากเรื่อง เวลากับวินัย”  เป็นข้อคิด ข้อปฏิบัติสำหรับนักเรียนที่รักทุกคน  ขอ เริ่มจากคำสำคัญ (KEYWORD) ตัวแรก  คือคำว่า เวลา”  มีผู้กล่าวกันว่าเวลาเป็นทรัพยากร เป็นสิ่งที่มีค่าไม่น้อยกว่า ทรัพยากรอื่น ๆ และถ้าพิจารณาคำว่า  เวลา  ตามเข็มนาฬิกา ทุกคนมีเท่าเทียมกัน  1  วัน  24  ชั่วโมง  1,140  นาที  86,400  วินาที  แต่เวลาที่ใช้จริงในกิจกรรมต่างๆ  แต่ละวัน  แต่ละชั่วโมง แต่ละนาที และวินาที  แตกต่างกัน  สิ่งที่นักเรียนที่รักพึง พิจารณา คือการใช้เวลาในแต่ละวัน เกิดประโยชน์ตน  ประโยชน์ผู้อื่นมากน้อยเพียงไร  หรือว่าเราปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไร้ ประโยชน์  ไร้คุณค่าทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น  มีข้อที่ควรฉุกคิดอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเวลา คือเวลาตามความรู้สึก  กิจกรรมบาง เรื่องแม้ใช้เวลาเพียงน้อยนิด แต่เรามีความรู้สึกว่านานจัง  แต่กิจกรรมบางอย่างใช้เวลามาก  แต่เรารู้สึกว่าเวลาช่างหมดเร็วจัง  เวลาตามความรู้สึกเป็นเรื่องที่พึงระวังอย่างยิ่งถ้ากิจกรรมที่เราทำเป็นเรื่องดีมีประโยชน์  O.K.  แต่ถ้ากิจกรรมที่เราทำเป็น เรื่องไร้ สาระหาประโยชน์มิได้ คงต้องฝึกที่จะปฏิเสธ หรือ  SAY NO.  มีภาษิตฝรั่งกล่าวไว้ว่า “TIME AND TIDE WAIT FOR NO MAN”   แปลเอาเองนะครับ

             คำสำคัญ  (KEYWORD)  ตัวที่สองคือคำว่า  “วินัย”  คำว่า วินัยมีผู้กล่าวไว้น่าคิดและน่าฟังทีเดียว  “วินัยสร้างคน  คนสร้าง ชาติ”  ทำไมวินัยจึงสร้างคนเป็นคำถามที่น่าสนใจทีเดียว  ขอทำความเข้าใจกับนักเรียนเป็นพื้นฐานก่อนว่า  วินัยหมายถึง ข้อตก ลง  กติกา ระเบียบปฏิบัติ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  สิ่งแรกที่พึงประพฤติปฏิบัติคือ วินัยต่อตัวเอง  เมื่อเรามี ข้อตกลงกับตัวเองไว้อย่างไรก็ต้องทำให้ได้  สามเรื่องที่พึงมีข้อตกลงกับตนเอง ว่าจะต้องทำให้ได้ คือ การพัฒนาตนเอง ทั้งทาง ด้านความรู้ จิตใจ สุขภาพพลานามัย  เพราะทั้งสามเรื่องเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต  ขอให้นักเรียน ที่รักทุกคนกำหนดเป็นพันธกิจ คือ กิจที่ต้องทำทั้ง เรื่อง  ในแต่ละวันทำให้ได้  ทำให้เป็นกิจวัตรอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ สิ่งที่นักเรียนประพฤติ ปฏิบัติ เป็นประจำวันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ในที่สุดก็จะกลายเป็นวินัยในตนเอง คนที่มีวินัยในตนเอง ก็คือคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง คนที่มีจิตใจเข้มแข็ง จะทำอะไรก็สำเร็จ  ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า  ใจเป็นใหญ่  ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จ ด้วยใจ  

             กล่าวโดยสรุป เวลาและวินัยเป็นของคู่กัน เมื่อเราได้ตกลงที่จะทำอะไร ในแต่ละวัน เราก็ต้องทำให้ได้ จึงจะเรียกว่า เป็นผู้มีวินัยในตนเอง  และเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง จะทำกิจการใดก็สำเร็จ

             ท้ายนี้ครูใหญ่ในนามคณะครู  ขออำนวยอวยพรให้นักเรียนที่รักทุกคน   ประสบแต่ความสุขสวัสดีในทุกประการ

สวัสดีครับ

ครูฤทธิกร  หุ่นตรีกุล

  บทความจากวารสารจารุวัฒนานุกูลประจำภาคเรียนที่ 1/2560

 

 

 

 

นักเรียนที่รักครับ


              สารฉบับนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่อง “เคล็ดลับนำไปสู่ความสำเร็จ” สารฉบับก่อนเป็นเรื่อง “ผลนั้นเกิดแต่เหตุ ปัจจัย” ทุกครั้งที่ครูใหญ่ได้แสดงความยินดี ชื่นชมให้โอวาท หรือข้อคิดกับนักเรียนนั้น จุดเน้น (Focus) หรือเป้าประสงค์ (Target) จะอยู่ที่ตัวนักเรียนเป็นสำคัญจนเป็นเหตุให้ลืมเสียสนิท ที่จะชื่นชมผู้ปิดทองหลังพระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณครู ที่ได้ทุ่มเทเสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา รวมทั้งกำลังทรัพย์ (ในบางโอกาส) มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐาน ความรู้ จิตใจ (คุณธรรม) สุขภาพพลานามัยที่มั่นคง แข็งแรง เพื่อนักเรียนจะได้เจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างงามสง่า (SMART) มีความภาคภูมิใจในตนเอง
              ครูใหญ่ในนามคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ขอโอกาสใช้วารสารฉบับนี้ ปรบมือและ ชื่นชมดัง ๆ ว่าผลสำเร็จของนักเรียนในทุกสนามการแข่งขัน ทั้งทางด้านวิชาการ กีฬา ศิลปะ และดนตรี เกิดจากคุณครู คือผู้ สร้างโดยแท้จริง ส่วนคุณพ่อ-คุณแม่ ท่านผู้ปกครองซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างและเป็นกำลังหลักสนับสนุนนั้น พระคุณของทุกท่าน สุดพรรณนา
              นักเรียนที่รักครับ สืบเนื่องจากหลักที่ว่า “ผลนั้นเกิดแต่เหตุ” เคล็ดลับซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จนั้น พระพุทธองค์ ประทานหลักธรรมนี้ไว้ว่าทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ เจ้าของใจที่แท้จริงคือตัวสติ และปัญญา สติ คือ รู้ตัว ปัญญาคือ รู้คิด ทั้งรู้ตัวและรู้คิด ต้องเป็นของคู่กันและเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ตัวสติและปัญญา จะเป็นตัวรู้ คิด พิจารณากลั่นกรองที่จะเลือกเชื้อเชิญ คบหากับสิ่งที่ดี ไม่คบหาสมาคมกับสิ่งที่ไม่ดี การคบหากับสิ่งที่ดี ก็จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ ความสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราคบหาสมาคมกับ สิ่งที่ไม่ดีก็รังแต่นำมาซึ่งความทุกข์ ความเสื่อม และความเศร้าหมอง สิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดี มีมากมายและมักจะเป็นของคู่กัน แต่ให้ผลต่างกัน ขอให้นักเรียนที่รักทุกคนใช้สติและปัญญา ซึ่งเป็นเจ้าของใจที่แท้จริง เลือกคบหาแต่สิ่งที่ดี ๆ ปฏิเสธ ลด ละ เลิก คบหากับสิ่งที่ไม่ดี นี่แหละ คือเคล็ดลับซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ ดังที่พระพุทธองค์ท่านทรงประทานไว้ ขอฝากเป็นข้อคิด ข้อปฏิบัติสำหรับนักเรียนที่รักทุกคน
ท้ายนี้ ครูใหญ่ในนามของคณะครู ขออำนวยพรให้นักเรียนที่รักทุกคน ประสบแต่ความสุข สวัสดี

                                                                                                                                                                                                                                                                             ครูฤทธิกร หุ่นตรีกุล
                                                                                                                                                                                                           บทความจากวารสารจารุวัฒนานุกูลประจำภาคเรียนที่ 1/2561

 

 


นักเรียนที่รักครับ

         ครูใหญ่ในนามคณะกรรมการบริหาร คุณครู บุคลากรของโรงเรียนขอแสดงความชื่นชมยินดีในความรู้ ความ สามารถที่หลากหลายด้านของนักเรียน (ด้านวิชาการ  กีฬา  ดนตรี และศิลปะ)

         ด้านวิชาการนักเรียนสามารถสอบเข้าเรียนต่อมัธยมศึกษาในโรงเรียนชั้นนำทั้งฝั่งพระนคร และธนบุรี ทั้งโปรแกรม ปกติ/Gifted   Program / English  Program  มีผลสัมฤทธิ์จาการสอบ ONET, TEDET  และ Pre-test  เข้าศึกษาต่อชั้น มัธยมศึกษาเป็นที่น่าพึงพอใจและภาคภูมิใจ

        ด้านการกีฬาว่ายน้ำ และบาสเกตบอล นักกีฬาว่ายน้ำ ชาย-หญิง ได้รับรางวัล เหรียญทองคำ  เหรียญเงิน เหรียญทองแดงในทุกสระทุกสนามการแข่งขัน  ล่าสุดจากการแข่งขันบาสเกตบอล สพฐ. รายการ สปอนเซอร์ไทยแลนด์แชมป์เปี้ยนชิพ 2017 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  “OBEC  SPONSOR  BASKETBALL  THAILAND  CHAMPIONSHIP  2017”  (วันที่ 31  สิงหาคม 2560 ณ  จ.ลำพูน) ทีมนักบาสเก็ตบอลชายรุ่นอายุ ไม่เกิน  11  ปี  ได้รับรางวัลชนะเลิศ   และเด็กชาย ปิตินันท์  พรมพิทักษ์ ชั้น ป.5  ได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยม (MPV) ส่วนทีมนักบาสเก็ตบอลหญิงรุ่นอายุไม่เกิน 11  ปี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทางด้านศิลปะ ดนตรี ก็ได้รับรางวัล เช่นกัน

        จากผลงานแห่งความภาคภูมิใจดังกล่าวข้างต้น ในเกือบทุกปีการศึกษานั้น คำถามสำคัญที่ครูใหญ่ได้ถามนักเรียน ว่า  หาก “ผลนั้นเกิดแต่เหตุปัจจัย”  การที่นักเรียนจะประสบกับความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การเรียน  การงาน หรืออื่นๆ เหตุปัจจัยที่สำคัญ คืออะไร จากคำตอบที่ได้รับจากนักเรียนที่หลากหลายความ คิดเห็น พอจะสรุปได้ว่า เหตุปัจจัยที่นำมา ซึ่งความสำเร็จนั้นคือ

                 1. เหตุปัจจัยภายใน                                   2. เหตุปัจจัยภายนอก

                เหตุปัจจัยภายใน หมายถึง ตัวนักเรียนเองที่มีฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ  และวิมังสา  มีสมาธิ  สติและปัญญา ใน เรื่องนั้น ๆ ส่วนเหตุปัจจัยภายนอก คือการได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อ-คุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และ โรงเรียน  ทั้งเหตุปัจจัยภายใน และภายนอกที่ก่อให้เกิดความสำเร็จนี้  เรารวมเรียกว่า พลังสี่ประสาน อันได้แก่ ตัวนักเรียน  ผู้ปกครอง  คุณครู และโรงเรียน (คณะผู้บริหาร) นักเรียนที่รักครับ พึงระลึกอยู่เสมอว่า การที่เรา ประสบกับความสำเร็จนั้น ต้องประกอบด้วยเหตุ ปัจจัยทั้งภายใน และภายนอก คุณพ่อ-คุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และโรงเรียน(คณะผู้บริหาร)มีพระคุณต่อเรา  เราต้องให้ คำมั่นสัญญากับตัวเองว่า เราจะตั้งใจศึกษาเล่า เรียน และประพฤติปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีของวงศ์ตระกูล  ลูกศิษย์ที่ดีของ คุณครู โรงเรียน และเป็นพลเมืองดี ของชาติบ้านเมือง

                ท้ายนี้ ครูใหญ่ในนามคณะครู ขออำนวยอวยพรให้นักเรียนที่รักทุกคน ประสบแต่ความสุขสวัสดี  ปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม ขอให้สมประสงค์ทุกประการ

 

                                                                                                                                                                                                                                                                         ด้วยรักและปรารถนาดี

                                                                                                                                                                                                                                                                            ครูฤทธิกร  หุ่นตรีกุล

                                                                                                                                                                                                            บทความจากวารสารจารุวัฒนานุกูลประจำภาคเรียนที่ 2/2560

 

Visitors: 578,410